Sunday, August 7, 2011

อีก 3 ปี 5 เดือน

เคยพูดและเขียนถึงหลายครั้งแล้วเรื่องที่ปฏิญญาอาเซียนซึ่งเราไปทำความตกลงไว้กับอีก 9 ประเทศ จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 มกราคม 2558 หรืออีก 3 ปี 5 เดือนข้างหน้า
   
ถ้าว่าถึงระดับความตื่นตัว รัฐได้ทำอยู่บ้างแล้ว แต่เรื่องนี้เข้าใจยากตั้งแต่ว่าคืออะไร ทำไปทำไม เราจะได้อะไรขึ้นมา ผลกระทบต่อไทยมีอะไรบ้าง และเราจะต้องปรับเปลี่ยนเตรียมรับมืออย่างไร เท่าที่ฟัง ๆ มาผมว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐอธิบายไม่ค่อยรู้เรื่อง ศัพท์แสงยุ่งยากราวกับภาษากรมอุตุฯ พยากรณ์อากาศสมัยก่อน ยิ่งพอเป็นความตกลงระหว่างประเทศ ทีนี้เลยพูดไทยปนอังกฤษ แม้แต่คำว่า "กรอบความตกลง" "เสาหลักที่ 1" "ดุจการปฏิบัติต่อชนชาติตน" ก็ฟังเข้าใจยากเต็มที ใจคอจะไม่ให้ป้าเมี้ยน โกเฮง น้าสมปอง เจ๊จู รู้เรื่องบ้างหรือไง!
   
ขอแนะว่าช่วยเชิญ ดร.เสรี วงษ์มณฑา สรยุทธ สุทัศนะจินดา กนก รัตน์วงศ์สกุล โก๊ะตี๋ ซูโม่กิ๊ก ดาราหน้าเหมือนในรายการสภาโจ๊กมาอธิบายแล้วปล่อยให้ท่านไปอธิบายต่อเถิดครับ แต่คนที่ต้องทำความเข้าใจด้วยในอันดับต้น ๆ คือ ครม.ใหม่ สมาชิกทั้งสองสภา ปลัดกระทรวงทุกกระทรวง อธิบดีทุกกรมฯ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
   
 ปฏิญญาอาเซียน (ไม่ใช่เอเชี่ยน) พูดถึงการเปิดเสรีทางธุรกิจการค้าและบริการ ลดหรือยกเว้นภาษี ยกเลิกข้อกีดกันจำกัดสิทธิคนต่างชาติในบรรดาสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศที่จะเข้าไปทำงานในอีกประเทศ หลักเกณฑ์อะไรที่เริ่มต้นด้วยคำว่า "ต้องมีสัญชาติไทย" หรือ "ต้องมีคนไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 50" เป็นอันว่าเสี่ยงต่อการขัดความตกลงอาเซียนทั้งนั้น (เห็นไหมว่าชักเข้าใจยากแล้ว)
   
กฎกติกาที่ว่าโรงเรียนอินเตอร์ เจ้าของต้องเป็นไทยก็น่าจะขัด ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่เป็นไทยก็น่าจะขัดกฎหมายว่าด้วยธุรกิจท่องเที่ยวและกฎหมายว่าด้วยวิทยุโทรทัศน์ โทรคมนาคมที่เน้นเรื่องผู้ถือหุ้นว่าต้องเป็นไทยก็เข้าข่ายเสี่ยง
   
กฎหมายที่ผ่านไปแล้ว ใช้บังคับแล้ว ต้องตามแก้ไข กฎหมายที่กำลังร่างใหม่ต้องคิดใหม่ทำใหม่อาจมีคำถามว่า ถ้าขัดความตกลงอาเซียนแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ตอบในทางทฤษฎีก็คืออาจถูกตอบโต้และต่อต้าน รวมทั้งอาจถูกฟ้องร้องในศาลโลก
   
บางคนอาจคิดว่าไม่เป็นไร เราจะทำแบบมรดกโลก คือยุ่งนักก็ถอนตัวลาออกมา แต่กรณีอาเซียนคงไม่ง่ายอย่างนั้นเพราะมีทั้ง "ได้" และ "เสีย" ถ้าไม่ร่วมประชาคมอาเซียน เราก็จะโดดเดี่ยว ราคาสินค้าส่งออกนำเข้าถูกตีตลาดยับเยินจนซื้อไม่ได้ขายไม่ออก เราไม่เข้ากลุ่มเขา เขาก็ไม่ยอมรับเรา
   
กูรูเรื่องนี้ในเมืองไทยคือ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน อธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ และอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของแต่ละกรมฯ ดร.สุรินทร์นั้นเป็นคนของอาเซียนไปแล้วจะมากุลีกุจออะไรกับไทยก็จะถูกเพื่อนตำหนิเอา แต่กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์จะเป็นหลักได้ดี
   
รัฐบาลใหม่เองจะเฟ้นหาแต่รัฐมนตรีกระทรวงงบประมาณมาก ๆ เมกะโปรเจคท์เยอะ ๆ เท่านั้นคงไม่ได้ ช่วยให้ความสำคัญแก่กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ด้วย เอาคนที่เข้าใจเรื่องพวกนี้ดี พูดภาษาอังกฤษได้ ใจซื่อมือสะอาด และลุยงานมาเป็นรัฐมนตรีทีเถิด
   
แถลงนโยบายแล้ว ครม.ช่วยมีมติให้ทุกกระทรวงสำรวจว่าในแต่ละกระทรวง มีกฎกติกามารยาทอะไรที่ยังไม่สอดคล้องกับความตกลงของอาเซียนบ้าง และมีอะไรที่ควรคิดทำใหม่เพื่อรองรับความตกลงนี้ เช่น การที่นักศึกษาต่างชาติจะเข้ามาเรียนต่อในบ้านเราจะต้องทำอย่างไร
   
ทั้งต้องเตรียมรับมือแรงงานที่จะมาทำงานในบ้านเราไม่ว่าเพราะอยากได้ค่าแรงวันละ 300 บาทหรืออะไรก็ตาม และแรงงานเราที่จะไปทำงานในบ้านเขา แต่เราไปบ้านเขาน่ะอาจติดขัดที่ภาษาอังกฤษ เราจะช่วยให้คนของเราแข่งขันกับเขาได้อย่างไร
   
ที่น่ากลัวคือข้อที่ว่าเราต้องให้สิทธิชนชาติจากกลุ่มอาเซียนนั้น วันนี้ก็ยังไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร ถ้าเอ่ยชื่อนายตัน ฮก อัน ก็พอรู้ว่าสิงคโปร์ อับดุล มากาซี ก็พอรู้ว่ามาเลย์ โรแบร์โต กลาซิโอ ก็พอรู้ว่าฟิลิปปินส์ แต่ถ้าชาวอเมริกัน อังกฤษ เยอรมันแห่กันไปจดทะเบียนตั้งบริษัทในสิงคโปร์แล้วขอใช้สิทธิอาเซียนนำเข้าส่งออกเพื่อลดภาษีจะว่าอย่างไร
   
ทั้งหมดนี้ถ้าคิดว่า โธ่! อีกตั้ง 3 ปี 5 เดือน รัฐบาลคงไปก่อนแล้วล่ะก็แล้วไป แต่เขาว่านักการเมืองคิดถึงแต่พรุ่งนี้ เดือนหน้า มีแต่รัฐบุรุษเท่านั้นที่จะคิดไกลถึงอีก 3 ปี 5 เดือน
   
ถ้าอยากเป็นรัฐบุรุษหรือรัฐสตรีก็ต้องช่วยเร่งรัดจัดการเรื่องพวกนี้โดยไวครับ.

0 comments:

Post a Comment